ประวัติกรมการศาสนา
การตั้งกรมธรรมการ
รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้รวมหลายกรมที่เกี่ยวกับงานการพระศาสนาและงานการจัดการศึกษามาอยู่กรมเดียวกันให้เรียกชื่อว่า กรมธรรมการ
การตั้งกระทรวงธรรมการ
รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ประกาศตั้งกรมธรรมการเป็นกระทรวงธรรมการ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2435
ราชการของกระทรวงธรรมการ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า "ราชการของกระทรวงธรรมการและกรมศึกษาธิการนั้นต่างชนิดกันทีเดียว ยากที่จะเจ้ากระทรวงผู้สามารถบัญชาการได้ดีทั้ง 2 กรม คงได้ทางหนึ่งเสียทางหนึ่ง" มีพระบรมราชประสงค์จะให้ราชการเป็นไปสะดวก ทั้งจะให้สมแก่ทรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภกโดยตรง จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ย้ายกรมธรรมการมารวมอยู่ในพระราชสำนักตามประเพณีเดิม ส่วนกระทรวงธรรมการให้เรียก กระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่จัดการศึกษา
กระทรวงธรรมการ
ในปี พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า "การศึกษาไม่ควรจะแยกจากวัด" และได้เปลี่ยนชื่อกระทรวงศึกษาธิการเป็น กระทรวงธรรมการ โดยได้งานด้านพระศาสนามาไว้ในกระทรวงธรรมการ
เปลี่ยนชื่อกรมธรรมการเป็นกรมศาสนา
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พุทธศักราช 2484 มีผลให้เปลี่ยนชื่อ กระทรวงธรรมการ เป็นกระทรวงศึกษาธิการ เปลี่ยนชื่อกรมธรรมการเป็นกรมศาสนา
กรมศาสนาได้โอนจากกระทรวงศึกษาธิการ
รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พ.ศ. 2495 จัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้นตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีผลให้กรมศาสนาโอนสังกัดไปกระทรวงวัฒนธรรม กรมศาสนาได้โอนจากกระทรวงศึกษาธิการ มาสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2495 อยู่ในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม 6 ปี 5 เดือน ก็ได้โอนไปสังกัดกระทรวงศึกษาธิการตามเดิม ทั้งนี้เป็นผลจากประกาศใช้พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2501 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2501 ยุบเลิกกระทรวงวัฒนธรรมและสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ลงเป็นกอง ๆ หนึ่ง สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มาสังกัดในกรมการศาสนา
ในปี พ.ศ. 2515 ได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 217 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 ให้โอนกองวัฒนธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มาสังกัดในกรมการศาสนา
โอนกองวัฒนธรรมจากกรมการศาสนา จัดตั้งเป็นสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ในปี พ.ศ. 2522 ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2522 และได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2522 มีผลให้โอนกองวัฒนธรรมจากกรมการศาสนา จัดตั้งเป็นสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
จัดตั้งขึ้นเป็นสำนักงานพระพุทธ ศาสนาแห่งชาติมีฐานะเทียบเท่ากับกรม
มีการปฏิรูประบบราชการ กรมการศาสนาได้แยกออกจากกระทรวงศึกษาธิการไปสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม และอีกส่วนหนึ่ง จัดตั้งขึ้นเป็นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีฐานะเทียบเท่ากับกรม ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
ตรากรม
ระหว่าง พ.ศ. 2475 ถึง พ.ศ. 2484 นั้น กรมการศาสนายังมีชื่อว่ากรมธรรมการ มีหน้าที่จัดเก็บเกี่ยวกับเรื่องศาสนา จนถึงพ.ศ.2484 กรมธรรมการจึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นกรมการศาสนา ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พ.ศ.2484
ตราอธิบดีกรมการศาสนา
ตราสำหรับตำแหน่งอธิบดีกรมการศาสนา เป็นตราประจำชาดรูปกลม ศูนย์กลางกว้าง 6 เซนติเมตร ลายกลางเป็นรูปเสมา มีอักษรตัว ที่เรียกกันว่าเธาะ ขัดสมาธิตั้งอยู่บนบัลลังก์สิงห์ภายในกนกเปลวมีอักษรที่ขอบเบื้องล่างว่า "อธิบดีกรมการศาสนา" ตรานี้ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2484
ตราของกรมการศาสนา
ตราของกรมการศาสนาดูเป็นแบบโบราณ คือมีตัวเธาะ อยู่กลางใบเสมา ตัวเธาะนี้นิยมใช้ในทางเลขยันต์ ถือกันว่าขลังดี โบราณาจารย์หมายเอารูปขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งสมาธิ ณ ควงไม้พระศรีมหาโพธิ จนสำเร็จพระอนุตรสัมโพธิญาณ แต่บางท่านก็ว่า หมายถึงธรรม ตามเครื่องรางของขลังต่างนิยมใช้ตัวเธาะขัดสมาธินี้มาก ฉะนั้นการที่นำมาบรรจุไว้ในตรากรมจึงดูขลังดี ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ออกแบบ