วธ. ชู Soft Power ในมิติศาสนาและวัฒนธรรม ร่วมสืบสานเทศกาลครั้งยิ่งใหญ่ Amazing Thailand Diwali Festival Bangkok 2024
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เวลา 17.30 น. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีจุดเทียนชัยเนื่องในเทศกาลดิวาลี โดยมี นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้นำองค์การศาสนา ศาสนิกชน องค์กรเครือข่าย และประชาชนเข้าร่วมในพิธี ณ เวทีกลาง บริเวณริมคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว. วธ.) กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้ดำเนินนโยบายร่วมกับองค์การศาสนา 5 ศาสนาจัดโครงการ “เสน่ห์แห่งสีสัน เทศกาลแห่งศรัทธา” ประกอบด้วย กิจกรรม “เสน่ห์วันวาน เทศกาลงานวัด” ของศาสนาพุทธ “วันอาซูรอสัมพันธ์” ของศาสนาอิสลาม “เทศกาลแห่ดาวคริสต์มาส” ของศาสนาคริสต์“เทศกาลนวราตรี”, “เทศกาลดิวาลี” ของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู และ “วันครบรอบ 555 ปี วันคล้ายวันประสูติคุรุนานักสาหิบ องค์ปฐมศาสดา” ของศาสนาซิกข์ เพื่อส่งเสริม Soft Power ในมิติศาสนา 5 ศาสนา ซึ่งการจัดงาน“ดิวาลีเฟสติวัล กรุงเทพมหานคร” ประจำปี พ.ศ.2567 กรมการศาสนา ได้ร่วมกับสมาคมอินเดียแห่งประเทศไทย และองค์การทางศาสนา และภาครัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2567 ณ ย่านลิตเติ้ลอินเดีย บริเวณถนนพาหุรัด คลองโอ่งอ่าง และสะพานเหล็ก กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม พร้อมทั้งส่งเสริมเทศกาลทางศาสนาให้เป็นหมุดหมายสำคัญในระดับโลก ช่วยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว. วธ.) กล่าวต่อไปว่า สำหรับกิจกรรมในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ประกอบด้วย การสักการะองค์เทพของศาสนาฮินดู โดยทำพิธีอารตีขอพรต่อพระพิฆเนศและพระแม่ลักษมีของวัดเทพมณเฑียร รวมทั้ง องค์พระรามกับนางสีดาของวัดวิษณุ เสริมดวงชะตา โชคลาภ เพิ่มความสำเร็จให้ชีวิต การแสดงทางวัฒนธรรมสุดอลังการ แสง สี เสียงสไตล์บอลลีวูด ตลอดทั้งวัน การเยี่ยมชมศาสนสถานตามเส้นทางย่านพาหุรัด ซึ่งเป็นศูนย์รวมศรัทธาของคนในชุมชน เช่น คุรุดวารา (วัดซิกข์) และวัดเทพมณเฑียร การร่วมจุดประทีปแห่งศรัทธาตามหลักความเชื่อของศาสนาฮินดูในเทศกาลดิวาลี หรือเทศกาลแห่งแสงสว่างซึ่งยังเป็นการเฉลิมฉลองปีใหม่อีกด้วย และการจัดนิทรรศการองค์ความรู้เกี่ยวกับเทศกาลดิวาลี ของศาสนาฮินดู และวันบัณดิ โชรฺ ของศาสนาซิกข์ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมของหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ การออกร้านอาหารอินเดียหลากหลายเมนู จากภัตตาคารอินเดียชื่อดังในประเทศไทย ซึ่งจะมีอาหารจานเด็ดอย่างซาโมซ่าและปานิปุริ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้ลิ้มลองรสชาติของวัฒนธรรมอินเดียอย่างเต็มที่ และชอปสินค้าสไตล์อินเดียนจากร้านค้าชื่อดัง ทั้งส่าหรี เครื่องประดับ ของตกแต่งศิลปวัฒนธรรมอินเดีย เป็นต้น นอกจากนี้ “เทศกาลดิวาลี” เป็นประเพณีปีใหม่ของชาวฮินดูที่เก่าแก่ ซึ่งตรงกับวันอมาวัสยา หรือวันเดือนดับในเดือน 8 ตามระบบปฏิทินฮินดู จัดขึ้นเพื่อทำการบูชาขอพรพระแม่ลักษมี เทวีแห่งโชคลาภ ทรัพย์สิน เงินทอง ในวันนี้ชาวฮินดูจะทำการบูชาองค์เทพด้วยแสงไฟจากตะเกียงประทีป โดยจุดให้สว่างตลอดวันตลอดคืน เพื่อขอให้ประทานพรแก่ผู้สักการบูชา นอกจากนี้ยังเป็นการเฉลิมฉลองตามตำนาน คัมภีร์รามายณะ ซึ่งมีตำนานว่าเมื่อพระรามสู้รบกับเหล่าอสูรจนมีชัยแล้วก็ได้เดินทางกลับมาสู่อาณาจักรอโยธยาในคืนเดือนมืด จึงมีการเฉลิมฉลองชัยชนะด้วยไฟกันทั่วทั้งอาณาจักรอโยธยา เพื่อนำทางทัพพระรามกลับสู่อาณาจักร ด้วยเหตุนี้ เทศกาลดิวาลี จึงเป็นเทศกาลแห่งแสงสว่าง แสงไฟ และความรื่นเริงมีการจุดประทีปเป็นสัญลักษณ์การเฉลิมฉลองชัยชนะของคุณงามความดีที่มีต่อความชั่วร้าย และแสงสว่างที่อยู่เหนือความมืดมน ผู้คนนิยมแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่ ๆ มีการจุดตะเกียงเพื่อให้เกิดความสว่างไสวไปทั้งบ้าน รวมถึงการชำระปัดกวาดสถานที่ให้สะอาด เพื่อเตรียมรับสิ่งดี ๆ ให้เข้ามาในบ้านเรือนหลังนั้น ๆ ในขณะที่ผู้ที่นับถือศาสนาซิกข์ก็จะเฉลิมฉลองเทศกาลดิวาลีด้วยเหตุผลความเชื่อที่ต่างไป โดยจะเรียกว่าวัน “บัณดิ โชรฺ” หรือวันปลดปล่อยเพื่ออิสรภาพและสิทธิอันเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นวันที่คุรุ ฮัร โควินท์ สาหิบ ศาสดาองค์ที่ 6 ของศาสนาซิกข์ ได้รับการปลดปล่อยจากการจองจำของจักรวรรดิโมกุล โดยศาสนิกชนชาวซิกข์จะมีการทำพิธีสวดอัรดาส และสวดกีรตันขอพรร่วมกันที่คุรุดวาราศาสนสถานในศาสนาซิกข์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว. วธ.) กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดงานในครั้งนี้ มุ่งเน้นการส่งเสริมความเข้าใจและการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม เป็นการส่งเสริมให้ศาสนิกชนได้ปฏิบัติศาสนกิจตามศาสนา อันเป็นการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันศาสนาให้เป็นเสาหลักที่จะสร้างสรรค์สังคมที่มีคุณธรรม ศาสนิกชนทุกศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยความรักสามัคคีสืบต่อไป รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในมิติทางศาสนาและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นในด้านเศรษฐกิจ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่หลากหลาย ก่อให้เกิดความศรัทธาและความเชื่อ ที่จะช่วยสร้างรายได้จากการขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ส่งผลให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนาคตสืบไป