วธ. เชิญชวนพุทธศาสนิกชน ร่วมตักบาตรเทโว เนื่องในเทศกาลออกพรรษา รักษาศีล ฟังธรรม สืบทอดพระพุทธศาสนา
วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2567 เวลา 07.00 น. กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร และองค์กรเครือข่ายทางพระพุทธศาสนา จัดพิธีทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ เนื่องในเทศกาลออกพรรษา ประจำปี พ.ศ. 2567 ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยมีพระพรหมวชิราธิบดี อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานฝ่ายพิธีฆราวาส พร้อมด้วยนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และผู้แทนหน่วยงาน เข้าร่วมในพิธี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ วัดมหาธาตุยุราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร และองค์กรเครือข่ายทางพระพุทธศาสนา จัดพิธีทำบุญ ตักบาตรเทโวโรหณะ พระสงฆ์ 79 รูป เนื่องในเทศกาลวันออกพรรษาประจำปี พ.ศ. 2567 เพื่อสืบสานพระพุทธศาสนา ตระหนักและเห็นคุณค่าของประเพณีที่ส่งเสริมให้ครอบครัวและชุมชนได้กลับมาทำบุญร่วมกัน น้อมคติธรรมเรื่องการอยู่ร่วมกันและหลักของการอ่อนน้อมถ่อมตนมาปฏิบัติใช้เป็นแนวทางปฏิบัติตนในการเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี วันออกพรรษา หรือเรียกว่า วันมหาปวารณา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา เมื่อพระสงฆ์จำพรรษาครบไตรมาสได้ปวารณาออกพรรษาและได้กรานกฐินแล้ว ย่อมได้รับอานิสงส์ หรือข้อยกเว้นพระวินัย 5 ข้อ คือ 1. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา (ออกจากวัดไปโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งเจ้าอาวาสหรือพระสงฆ์รูปอื่นก่อนได้) 2. เที่ยวไปไม่ต้องถือไตรจีวรครบสำรับ 3 ผืน 3. ฉันคณโภชน์ได้ (โภชนะที่คณะรับนิมนต์ไว้) 4. เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา (ยกเว้นสิกขาบทข้อนิสสัคคิยปาจิตตีย์บางข้อ) 5. จีวรลาภอันเกิดในที่นั้นเป็นของภิกษุ (เมื่อมีผู้มาถวายจีวรเกินกว่าไตรครองสามารถเก็บไว้ได้โดยไม่ต้องสละเข้ากองกลาง) ซึ่งประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันออกพรรษาที่นิยมปฏิบัติ คือ ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ เป็นประเพณีที่นิยมกระทำกันมานานแล้วในวันออกพรรษา ซึ่งเรียกว่า "ตักบาตรเทโว" หรือเรียกชื่อเต็มตามคำพระว่า "เทโวโรหณะ" แปลว่าการหยั่งลงจากเทวโลก หรือการตักบาตรนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ตักบาตรดาวดึงส์" และการตักบาตรเทโวนี้ จะกระทำในวันขึ้น 15 เดือน 11 หรือวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ก็ได้ เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ทำปวารณาแทนอุโบสถสังฆกรรม ซึ่งเป็นพิธีกรรมของพระสงฆ์ที่ทำปวารณาต่อกัน ใจความของคำปวารณาคือ เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันในเมื่อเหตุความผิดพลั้งหรือความไม่ดีงามของกันและกัน เพื่อความบริสุทธิ์ของพระสงฆ์ และความบริสุทธิ์ในพระพุทธศาสนา เมื่อถึงวันออกพรรษา พุทธศาสนิกชนพึงบำเพ็ญกุศลด้วยการทำบุญ ตักบาตร รับศีล ฟังพระธรรมเทศนาเพื่อเกิดความสะอาด สงบ และร่วมกันสืบทอดประเพณีทางพระพุทธศาสนาสืบไป