ข่าวสารกรมการศาสนา

  • 15 ต.ค. 67 5 views

    วันอังคารที่ 15 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00 น. อธิบดีกรมการศาสนา มอบหมายให้ นายธีทัต พิมพา รองอธิบดีกรมการศาสนา เข้าร่วมและกล่าวแสดงความยินดีในการนมัสการขอบคุณพระเจ้า เนื่องในโอกาสครบ 90 ปี สภาคริสตจักรในประเทศไทย และการประชุมสมัชชาสภาคริสตจักรในประเทศไทย สมัยสามัญ ครั้งที่ 38 ณ หอธรรม โรงเรียกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร

  • 15 ต.ค. 67 1 views

    วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๙.๐๐ น. (ตามเวลาสาธารณรัฐประชาชนจีน) นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมเชิงวิชาการพระพุทธศาสนาโลก ครั้งที่ ๖ จัดขึ้นเมื่อเย็นวันอังคารที่ภูเขาเซว่โต่วในหนิงปัว มณฑลเจ้อเจียง ทางตะวันออกจีน โดยมี นาย หวัง ฮู่หนิง สมาชิกคณะกรรมการประจำกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานคณะกรรมการแห่งชาติของการประชุมปรึกษาการเมืองประชาชนจีน เป็นประธานในพิธีเปิดและขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ หวัง ฮู่หนิง เป็นผู้นำระดับสูงของจีนเรียกร้องให้ชุมชนชาวพุทธร่วมกันนำปัญญาและความแข็งแกร่งมาใช้เพื่อสันติภาพโลกและความก้าวหน้าของมนุษยชาติและการแลกเปลี่ยนระหว่างอารยธรรมต่างๆ มากกว่านั้นยังสนับสนุนการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนของศาสนาต่างๆ โดยเน้นย้ำว่าจีนยึดมั่นในนโยบายเสรีภาพในการนับถือศาสนา และส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนศาสนาดำเนินการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศบนพื้นฐานของความเป็นอิสระ ความเท่าเทียม มิตรภาพ และความเคารพซึ่งกันและกัน การจัดการประชุมพระพุทธศาสนาโลก ครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ "เคียงคู่กันเพื่อการอยู่ร่วมกัน" มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจฉันทามติ และแนวทางปฏิบัติภายในชุมชนชาวพุทธเพื่อรับมือกับความท้าทายระดับโลกในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มุ่งหวังที่จะแสดงให้เห็นว่าสันติภาพ การพัฒนา และความเจริญรุ่งเรืองของโลกเป็นเป้าหมายร่วมกันและเป็นวิสัยทัศน์ร่วมกันสำหรับชาวพุทธและมนุษยชาติทั้งหมด (The Sixth World Buddhist Forum) ซึ่งการประชุมเชิงวิชาการพระพุทธศาสนาโลกครั้งนี้ เป็นแนวทางการแลกเปลี่ยนและการเจรจาพหุภาคีพุทธศาสนิกชนระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุด และมีอิทธิพลมากที่สุด ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมพุทธศาสนาแห่งประเทศจีน และสมาคมแลกเปลี่ยนศาสนาและวัฒนธรรมของจีน

  • 13 ต.ค. 67 4 views

    วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ เนื่องใน “วันนวมินทรมหาราช” ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๗ โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมเข้าร่วม ณ ห้องโถง ชั้น ๑ อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม ทั้งนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกำหนดให้วันที่ ๑๓ ตุลาคมของทุกปี เป็น "วันนวมินทรมหาราช" เพื่อให้วันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นวันแห่งการร่วมรำลึกและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

  • 13 ต.ค. 67 2 views

    วธ. จัดกิจกรรมเนื่องในวันนวมินทรมหาราช 13 ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร น้อมถวายราชสดุดีแด่พระมหากษัตริย์นักพัฒนาผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม 2567 เวลา 09.00 น. กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จัดพิธีสวดพระพุทธมนต์ถวายพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันนวมินทรมหาราช 13 ตุลาคม โดยมีพระพรหมวชิรสุธี เจ้าอาวาสวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม องค์กรเครือข่าย ประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมในพิธี ณ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ต.ค. 2559 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช สิริพระชนมพรรษารวม 88 ปี 8 ปีแห่งกาลสวรรคต คือ 8 ปีแห่งการรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จึงกำหนดจัดพิธีสวดพระพุทธมนต์ เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันนวมินทรมหาราช และถวายราชสดุดีแด่พระมหากษัตริย์นักพัฒนาผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก ซึ่งกิจกรรมประกอบด้วย พิธีตักบาตรพระสงฆ์ พิธีสวดพระพุทธมนต์และสดับปกรณ์ พิธีรับมอบเครื่องอุปโภคบริโภคจากพระพรหมวชิรสุธี เจ้าอาวาสวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากจังหวัดต่าง ๆ สำหรับส่วนภูมิภาค กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด 76 จังหวัด จัดโครงการหรือกิจกรรมเพื่อถวายราชสดุดีและถวายพระราชกุศล ประกอบด้วย พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ พิธีสวดพระพุทธมนต์ กิจกรรมรักษาศีลปฏิบัติธรรม กิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ การจัดนิทรรศการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณในด้านศาสนา กิจกรรมเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และกิจกรรมอื่นใดที่จังหวัดนั้น ๆ เห็นสมควร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปฏิบัติตามโบราณราชประเพณี ด้วยการเสด็จทรงออกผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระองค์ทรงรับการบรรพชาเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ได้รับสมณนามจากพระอุปัชฌาย์จารว่า “ภูมิพโลภิกขุ” จากนั้นเสด็จประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร โดยพระองค์ทรงปฏิบัติพระธรรมวินัย ตามแบบอย่างพระภิกษุโดยเคร่งครัด สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในฐานะพระพี่เลี้ยง ได้เล่าถึงพระราชจริยาวัตรขณะทรงผนวชไว้ในหนังสือ “ในหลวงของเรา” ว่า“สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้มอบหมายให้เป็นพระพี่เลี้ยง จากการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ได้มีความรู้สึกว่า พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะได้ทรงพระผนวชตามราชประเพณีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ แต่ทรงพระผนวชด้วยพระราชศรัทธา ที่ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง มิได้เป็นบุคคลจำพวกที่เรียกว่าหัวใหม่ ไม่เห็นศาสนาเป็นสำคัญ แต่ได้ทรงเห็นคุณค่าของพระศาสนา ฉะนั้น ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาสามัญก็กล่าวได้ว่า บวชด้วยศรัทธา เพราะพระองค์ทรงผนวชด้วยพระราชศรัทธาประกอบด้วยพระปัญญา และได้ทรงปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ตัวอย่างเช่น เมื่อเสด็จฯ ไปทั้งในวัดและนอกวัดไม่ทรงสวมฉลองพระบาท เสด็จไปด้วยพระบาทเปล่าทุกแห่ง ได้ทรงปฏิบัติกิจวัตรต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์ และทรงรักษาเวลามาก เมื่อตีระฆังลงโบสถ์ในวันปกติทุกเช้าเย็น เวลา 8.00 น. และ เวลา 17.00 น. ก็จะเสด็จลงโบสถ์ทันที ทำให้พระภิกษุสามเณรทั้งวัดพากันรักษาเวลาอย่างเคร่งครัด โดยที่ได้ไปประชุมกันในโบสถ์ก่อนเวลาที่จะเสด็จฯ ถึง”

  • 12 ต.ค. 67 6 views

    วันที่ 12 ตุลาคม 2567 เวลา 17.00 น. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานงานแห่วันวิชัยทัศมิ ประจำปี 2567 โดยมี นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา พร้อมด้วย ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้นำองค์การศาสนา ศาสนิกชน องค์กรเครือข่าย ประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมในพิธี ณ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว. วธ.) กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้ดำเนินนโยบายร่วมกับองค์การศาสนา 5 ศาสนา จัดโครงการเทศกาลประเพณีทางศาสนา 5 ศาสนา ประกอบด้วย กิจกรรม “เสน่ห์วันวาน เทศกาลงานวัด” ของศาสนาพุทธ “วันอาซูรอสัมพันธ์” ของศาสนาอิสลาม “เทศกาลแห่ดาวคริสต์มาส” ของศาสนาคริสต์“เทศกาลนวราตรี”, “เทศกาลดิวาลี” ของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู และ “วันครบรอบ 555 ปี วันคล้ายวันประสูติคุรุนานักซาฮิบ องค์ปฐมศาสดา” ของศาสนาซิกข์ เพื่อส่งเสริม Soft Power ในมิติศาสนา 5 ศาสนา สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและเทศกาลในมิติศาสนา เสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มั่นคง และสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างศาสนิกชนส่งผลให้เกิดความสงบสันติสุขของสังคม ศาสนิกชนทุกศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยความรักสามัคคีสืบต่อไป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว. วธ.) กล่าวต่อไปว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้ร่วมกับองค์การทางศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ในประเทศไทย ประกอบด้วย สำนักพราหมณ์ราชครู ในสำนักพระราชวัง สมาคมฮินดูสมาช สมาคมฮินดูธรรมสภา และวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม) จัดงานเทศกาลนวราตรีระหว่างวันที่ 2 – 14 ตุลาคม 2567 ณ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม) แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เพื่อขับเคลื่อน Soft Power ในมิติศาสนา ด้านการท่องเที่ยวและเทศกาล กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนรอบศาสนสถาน ส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ศาสนิกชนจะได้มีโอกาสร่วมสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม และก่อให้เกิดความศรัทธาและความเชื่อ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว โดยเทศกาลดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่ศาสนิกชนชาวฮินดูบูชาพระแม่อุมาเทวี จากความเชื่อตามตำนานที่พระแม่อุมาเทวี ได้ปราบอสูรที่ชื่อว่า “มหิษาสูร” ที่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายไปทั่ว เหล่าทวยเทพจึงอัญเชิญพระแม่อุมาเทวีในร่างอวตารเป็นองค์ “พระแม่ทุรคา” ซึ่งสู้รบกับมหิษาสูรตลอดทั้ง 9 วัน 9 คืน และปราบลงได้สำเร็จในวันที่ 10 ศาสนิกชนจึงได้จัดพิธีขึ้นเพื่อบูชาพระแม่อุมาเทวีในชัยชนะครั้งนี้ และในวันที่ 10 คือ วันสุดท้ายของเทศกาล เรียกว่า “วันวิชัยทศมิ” หรือ “วันรามนวมี” อันมีความหมายถึงวันเฉลิมฉลองในชัยชนะในคืนที่สิบซึ่งแสดงถึงธรรมะที่สามารถชนะอธรรม และการมีปัญญา ศาสนิกชนจะมีการนำเทวรูปพระแม่อุมาเทวีและเทวรูปอื่นๆ ขึ้นขบวนแห่ไปบนเส้นทางเพื่อรับบารมีจากองค์เทพในคืนนี้ ตลอดเทศกาลศาสนิกชนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ ๆ สวยงาม เต้นรำ ร้องเพลง และเฉลิมฉลองกันตลอดทั้งวันทั้งคืน สำหรับขบวนแห่วันวิชัยทัศมิ ประจำปี 2567 ซึ่งเป็นไฮไลต์ของงาน มีขึ้นในวันที่ 12 ต.ค. 67 เป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ถือเป็นการแห่เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี ในภาคพระแม่ทุรคา ที่มีชัยต่อมหิษาสูร ที่ทรงอำนาจมากและไม่มีเทพองค์ใดสามารถทำลายลงได้ เป็นเวลา 9 วัน 9 คืน กระทั่งสามารถเอาชนะเหนืออสูรร้ายได้ในวันที่ 10 ตามตำนาน ซึ่งในขบวนแห่ดังกล่าว ประกอบด้วยรถแห่ จำนวน 8 ขบวน คือ ขบวนคนทรงองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี ขบวนคนทรงองค์พระขันธกุมาร ขบวนคนทรงองค์พระแม่กาลี ขบวนราชรถองค์พระพิฆเนศวร ขบวนราชรถองค์พระขันธกุมาร ขบวนราชรถองค์พระกฤษณะขบวนราชรถองค์พระกัตตวรายัน และขบวนราชรถองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี พระแม่มหาลักษมี และพระแม่มหาสรัสวตี ซึ่งก่อนขบวนราชรถคันใหญ่ขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี พระแม่มหาลักษมี และพระแม่มหาสรัสวตี จะมีพิธีที่เรียกว่า ทุบมะพร้าว โดยสานุศิษย์จะปามะพร้าวลงบนพื้น โดยเชื่อว่ามะพร้าวเปรียบเสมือนผลไม้แห่งพระเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ บริสุทธิ์ และสะอาด ชาวฮินดูมีความเชื่อว่าการทุบมะพร้าวเบื้องหน้าพระพักตร์ของเทวรูปที่นับถือ เป็นการแสดงถึงการทำลายหรือละทิ้งอัตตาของตนเอง พร้อมทั้งน้อมกายถวายตนแด่พระผู้เป็นเจ้า โดยขบวนแห่เริ่มเคลื่อนออกจากวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) และในวันที่ 14 ต.ค. 67 เป็นวันสุดท้ายของเทศกาลนวราตรี ประจำปี 2567 จะมีพิธีอัญเชิญธงสิงห์ลง และพิธีอาบน้ำคณะพราหมณ์และคณะคนทรง ซึ่งหลังจากเสร็จพิธีคณะพราหมณ์จะนำสายสิญจน์ที่ผ่านการทำพิธีตลอดทั้ง 10 วัน มาผูกข้อมือให้แก่สานุศิษย์ผู้ศรัทธา นอกจากนี้ ภายในงานดังกล่าว ยังมีการจัดกิจกรรมบูชาองค์เทพที่สำคัญของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ที่เป็นที่เคารพนับถือของศาสนิกชน อาทิ พิธีบูชาองค์พระพิฆเนศวร เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ ตามคติฮินดูที่ว่า ก่อนเริ่มบูชาเทพทุกองค์ต้องเริ่มบูชาจากองค์พระพิฆเนศวรก่อนเสมอ พิธีบูชาเทพประจำแผ่นดิน และเทพแห่งดาวนพเคราะห์ทั้งเก้า เพื่อขอจัดงานนวราตรีประจำปี 2567 เมื่อกำหนดการทั้งหมดเสร็จสิ้น จะมีพิธีบูชาพระแม่ทั้ง 3 ตลอดทั้งวันเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว พิธีอัญเชิญธงสิงห์ขึ้นเสา พิธีบูชาองค์พระแม่มหาทุรคาเทวี เทพแห่งอำนาจ บารมี พิธีบูชาองค์พระแม่มหาลักษมีเทวี เทพแห่งความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ พิธีบูชาพระแม่มหาสรัสวตีเทวี เทพแห่งศิลปวิทยาการ พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี และองค์พระศิวะมหาเทพ และพิธีบูชาพระแม่มหาสรัสวตีเทวี เทพแห่งศิลปวิทยาการ และพิธีสยุมพรองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวีและองค์พระศิวะมหาเทพ เป็นพิธีอภิเษกสมรสขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวีและองค์พระศิวะมหาเทพ ซึ่งจะมีการจัดรูปแบบของขบวนขันหมากและพิธีอภิเษกตามความเชื่อของศาสนาฮินดู โดยจัดเพียง 1 ครั้งในรอบปีเท่านั้น จึงเป็นพิธีกรรมที่ได้รับความสนใจจากศาสนิกชน และคู่รักหรือคู่ครองที่จะมาขอพรเพื่อการแต่งงาน และการสมหวังในความรัก ศาสนิกชนที่เข้าร่วมในพิธีอภิเษกสมรสขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวีและองค์พระศิวะมหาเทพจะได้ร่วมในขบวนแห่ขันหมาก ซึ่งประกอบด้วยขนมมงคลบนถาดบูชาสำหรับถวายองค์เทพ โดยเมื่อจบพิธีศาสนิกชนสามารถนำกลับไปรับประทานเพื่อสิริมงคลได้ ทั้งนี้ ข้อควรปฏิบัติในการเข้าร่วมงานนวราตรี และงานแห่วันวิชัยทัสมิ ให้แต่งกายด้วยชุดที่สุภาพ สีสันสดใส หลีกเลี่ยงสีโทนดำ ม่วง หรือน้ำเงินเข้ม เนื่องจากเป็นงานมงคล และโปรดระวังโจรล้วงกระเป๋าหรือกรีดกระเป๋า ส่วนการเดินทางมาเข้าร่วมงาน แนะนำให้เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ เนื่องจากห้ามจอดรถริมฟุตบาทตลอดเส้นทางที่ขบวนแห่ผ่าน งานนวราตรี เป็นอีกหนึ่งงานสำคัญทางศาสนาฮินดู ศาสนิกชนสามารถเดินทางเข้ามาร่วมพิธีได้โดยไม่มีการจำกัดเชื้อชาติหรือศาสนา โดยเชื่อว่าจะช่วยเสริมสิริมงคลให้กับชีวิตของตนเองและครอบครัวด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว. วธ.) กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการเทศกาลประเพณีทางศาสนา 5 ศาสนา ภายใต้การจัดกิจกรรมเทศกาลของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู เป็นการส่งเสริมให้ศาสนิกชนได้ปฏิบัติศาสนกิจตามศาสนา อันเป็นการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันศาสนาให้เป็นเสาหลักที่จะสร้างสรรค์สังคมที่มีคุณธรรม ศาสนิกชนทุกศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยความรักสามัคคีสืบต่อไป ทั้งยังเป็นการขับเคลื่อน Soft Power ในมิติทางศาสนาด้านการท่องเที่ยวและเทศกาล ยกระดับเทศกาลประเพณีให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และก่อให้เกิดความศรัทธาและความเชื่อ โดยการบูชาสิ่งที่เป็นวัตถุมงคล และของที่ระลึก ตลอดจนรถโดยสารสาธารณะ ที่จะช่วยส่งเสริมรายได้ให้กับผู้ประกอบการในการขายสินค้า และบริการต่าง ๆ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในมิติศาสนา ส่งผลให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ////

  • 11 ต.ค. 67 3 views

    วันศุกร์ ที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ เวลา ๑๗.๓๐ น. - ๒๑.๐๐ น. นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กรมการศาสนา เข้าร่วมพิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาสรัสวตีเทวี ในวันที่ ๙ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงานนวราตรี ประจำปี ๒๕๖๗ ณ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม)

  • 10 ต.ค. 67 2 views

    วันพฤหัสบดี ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๗ เวลา ๑๗.๓๐ - ๒๒ . ๐๐ น. อธิบดีกรมการศาสนา มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กรมการศาสนา เข้าร่วมพิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวีบูชาองค์พระศิวะมหาเทพ ในวันที่ ๘ ของงานนวราตรี ประจำปี ๒๕๖๗ ณ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม)

  • 9 ต.ค. 67 2 views

    วันพฤหัสบดี ที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๗ เวลา ๑๗.๓๐ - ๒๒ . ๐๐ น. อธิบดีกรมการศาสนา มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กรมการศาสนา เข้าร่วมพิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวีบูชาองค์พระศิวะมหาเทพ ในวันที่ ๗ ของงานนวราตรี ประจำปี ๒๕๖๗ ณ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม)

  • 9 ต.ค. 67 6 views

    วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๐๙ น. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีบวงสรวงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และพิธีทำบุญทางศาสนา เนื่องในโอกาสครบรอบ ๓๗ ปี การก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (ศวท.) โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงวัฒนธรรม ศิลปินแห่งชาติ และภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรมทั้งจากภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมพิธีอย่างอบอุ่น ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ ในส่วนของกรมการศาสนา นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา มอบหมายให้ นายธนพล พรมสุวงษ์ เลขานุการกรมการศาสนา นายมานัส ทารัตน์ใจ ที่ปรึกษากรมการศาสนา เข้าร่วมพิธีดังกล่าว ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หรือ Thailand Cultural Centre ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ โดยได้รับ ความร่วมมือจากรัฐบาลญี่ปุ่นในด้านการก่อสร้างและอุปกรณ์ รวมมูลค่ากว่า ๖๓๘ ล้านบาท ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงวางศิลาฤกษ์ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ พร้อมพระราชทานนาม "ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย”และเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนิน ฯ เปิด อาคารศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการ นับแต่นั้นมา

  • 9 ต.ค. 67 8 views

    วันที่ 9 ตุลาคม 2567 เวลา 08.30 น. นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา เป็นประธานในพิธีอภิเษกสมรสของพระแม่อุมาเทวีและพระศิวะ งานเทศกาลนวราตรี ประจำปี พ.ศ. 257 พร้อมด้วย ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้นำองค์การศาสนา ศาสนิกชน องค์กรเครือข่าย ประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมในพิธี ณ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้ดำเนินนโยบายร่วมกับองค์การศาสนา 5 ศาสนาจัดโครงการเทศกาลประเพณีทางศาสนา 5 ศาสนา ประกอบด้วย กิจกรรม “เสน่ห์วันวาน เทศกาลงานวัด” ของศาสนาพุทธ “วันอาซูรอสัมพันธ์” ของศาสนาอิสลาม “เทศกาลแห่ดาวคริสต์มาส” ของศาสนาคริสต์“เทศกาลนวราตรี”, “เทศกาลดิวาลี” ของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู และ “วันครบรอบ 555 ปี วันคล้ายวันประสูติคุรุนานักซาฮิบ องค์ปฐมศาสดา” ของศาสนาซิกข์ เพื่อส่งเสริม Soft Power ในมิติศาสนา 5 ศาสนา สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและเทศกาลในมิติศาสนา เสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มั่นคง และสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างศาสนิกชนส่งผลให้เกิดความสงบสันติสุขของสังคม ศาสนิกชนทุกศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยความรักสามัคคีสืบต่อไป กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้ร่วมกับองค์การทางศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ในประเทศไทย ประกอบด้วย สำนักพราหมณ์ราชครู ในสำนักพระราชวัง สมาคมฮินดูสมาช สมาคมฮินดูธรรมสภา และวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม) จัดงานเทศกาลนวราตรีระหว่างวันที่ 2 – 14 ตุลาคม 2567 ณ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม) แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร โดยเทศกาลดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่ศาสนิกชนชาวฮินดูบูชาพระแม่อุมาเทวี จากความเชื่อตามตำนานที่พระแม่อุมาเทวี ได้ปราบอสูรที่ชื่อว่า “มหิษาสูร” ที่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายไปทั่ว เหล่าทวยเทพจึงอัญเชิญพระแม่อุมาเทวีในร่างอวตารเป็นองค์ “พระแม่ทุรคา” ซึ่งสู้รบกับมหิษาสูรตลอดทั้ง 9 วัน 9 คืน และปราบลงได้สำเร็จในวันที่ 10 ศาสนิกชนจึงได้จัดพิธีขึ้นเพื่อบูชาพระแม่อุมาเทวีในชัยชนะครั้งนี้ และในวันที่ 10 คือ วันสุดท้ายของเทศกาล เรียกว่า “วันวิชัยทศมิ” หรือ “วันรามนวมี” อันมีความหมายถึงวันเฉลิมฉลองในชัยชนะในคืนที่สิบซึ่งแสดงถึงธรรมะที่สามารถชนะอธรรม และการมีปัญญา ศาสนิกชนจะมีการนำเทวรูปพระแม่อุมาเทวีและเทวรูปอื่นๆ ขึ้นขบวนแห่ไปบนเส้นทางเพื่อรับบารมีจากองค์เทพในคืนนี้ ตลอดเทศกาลศาสนิกชนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ ๆ สวยงาม เต้นรำ ร้องเพลง และเฉลิมฉลองกันตลอดทั้งวันทั้งคืน ทั้งนี้ ภายในงานดังกล่าว ยังมีการจัดกิจกรรมบูชาองค์เทพที่สำคัญของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ที่เป็นที่เคารพนับถือของศาสนิกชน ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญซึ่งเป็นไปตามลำดับวันในพิธี ตามกำหนดการดังนี้ วันที่ 2 ต.ค. 67 เป็นวันก่อนเริ่มงานเทศกาลนวราตรี มีพิธีบูชาองค์พระพิฆเนศวร เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ ตามคติฮินดูที่ว่า ก่อนเริ่มบูชาเทพทุกองค์ต้องเริ่มบูชาจากองค์พระพิฆเนศวรก่อนเสมอ ต่อมาในช่วงบ่ายถึงค่ำ เป็นพิธีบูชาเทพประจำแผ่นดิน และเทพแห่งดาวนพเคราะห์ทั้งเก้า เพื่อขอจัดงานนวราตรีประจำปี 2567 เมื่อกำหนดการทั้งหมดเสร็จสิ้น จะมีพิธีบูชาพระแม่ทั้ง 3 ตลอดทั้งวันเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว วันที่ 3 ต.ค. 66 เริ่มงานเทศกาลนวราตรี ประจำปี พ.ศ. 2567 มีพิธีอัญเชิญธงสิงห์ขึ้นเสา วันที่ 4 - 5 ต.ค. 67 พิธีบูชาองค์พระแม่มหาทุรคาเทวี เทพแห่งอำนาจ บารมี วันที่ 6 – 8 ต.ค. 67 พิธีบูชาองค์พระแม่มหาลักษมีเทวี เทพแห่งความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ ที่สำคัญ ในวันที่ 9 ต.ค. 67 พิธีสยุมพรองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวีและองค์พระศิวะมหาเทพ เป็นพิธีอภิเษกสมรสขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวีและองค์พระศิวะมหาเทพ ซึ่งจะมีการจัดรูปแบบของขบวนขันหมากและพิธีอภิเษกตามความเชื่อของศาสนาฮินดู โดยจัดเพียง 1 ครั้งในรอบปีเท่านั้น จึงเป็นพิธีกรรมที่ได้รับความสนใจจากศาสนิกชน และคู่รักหรือคู่ครองที่จะมาขอพรเพื่อการแต่งงาน และการสมหวังในความรัก โดยในปีนี้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนาได้รับเชิญร่วมในพิธีการสำคัญนี้อีกด้วย และศาสนิกชนที่เข้าร่วมในพิธีอภิเษกสมรสขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวีและองค์พระศิวะมหาเทพจะได้ร่วมในขบวนแห่ขันหมาก ซึ่งประกอบด้วยขนมมงคลบนถาดบูชาสำหรับถวายองค์เทพ โดยเมื่อจบพิธีศาสนิกชนสามารถนำกลับไปรับประทานเพื่อสิริมงคลได้ วันที่ 10 ต.ค. 67 พิธีบูชาพระแม่มหาสรัสวตีเทวี เทพแห่งศิลปวิทยาการ พิธีบูชาองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี และองค์พระศิวะมหาเทพ วันที่ 11 ต.ค. 67 พิธีบูชาพระแม่มหาสรัสวตีเทวี เทพแห่งศิลปวิทยาการ ในวันที่ 12 ต.ค. 67 งานแห่วันวิชัยทัศมิ ประจำปี 2567 อีกหนึ่งพิธีกรรมที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ถือเป็นการแห่เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี ในภาคพระแม่ทุรคา ที่มีชัยต่อมหิษาสูร ตามตำนาน ซึ่งในขบวนแห่ดังกล่าว ประกอบด้วยรถแห่ จำนวน 8 ขบวน คือ ขบวนคนทรงองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี ขบวนคนทรงองค์พระขันธกุมาร ขบวนคนทรงองค์พระแม่กาลี ขบวนราชรถองค์พระพิฆเนศวร ขบวนราชรถองค์พระขันธกุมาร ขบวนราชรถองค์พระกฤษณะขบวนราชรถองค์พระกัตตวรายัน และขบวนราชรถองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี พระแม่มหาลักษมี และพระแม่มหาสรัสวตีโดยขบวนแห่เริ่มเคลื่อนออกจากวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) และวันที่ 14 ต.ค. 67 พิธีอัญเชิญธงสิงห์ลง และพิธีอาบน้ำคณะพราหมณ์และคณะคนทรง ซึ่งหลังจากเสร็จพิธีคณะพราหมณ์จะนำสายสิญจน์ที่ผ่านการทำพิธีตลอดทั้ง 10 วัน มาผูกข้อมือให้แก่สานุศิษย์ผู้ศรัทธา

  • 7 ต.ค. 67 2 views

    วันจันทร์ที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๗.๐๐ - ๒๑.๐๐ น. เจ้าหน้าที่กรมการศาสนา ร่วมพิธีบูชาองค์พระแม่ลักษมี ในช่วงเทศกาลนวราตรี ประจำปี ๒๕๖๗ ณ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม)

  • 7 ต.ค. 67 2 views

    วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2567 เวลา 16.00 น. นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา เป็นประธานมอบของบริโภคและอุปโภค ให้แก่สมาคมประชาคมคนตาบอดไทย เพื่อนำไปช่วยเหลือคนพิการทางการเห็นที่ประสบสาธารณภัย โดยมี นายพัฒน์ธนชัย สระกวี นายกสมาคมคนตาบอดไทย และนางสาวเมธีณี คงศรีรอด ผู้อำนวยการสมาคมคนตาบอดไทย เป็นผู้รับมอบของบริโภคและอุปโภค ณ กระทรวงวัฒนธรรม เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร